Sartorial Lessons From The Prime Ministers Of Thailand

สไตล์การแต่งกายของนายกไทย

ข้อสังเกตเชิงสไตล์จากการแต่งกายของนายกรัฐมนตรีไทยในอดีต

บทความโดย Korakot Unphanit, Contributing Writer


หมายเหตุ: เนื่องจากบทความนี้เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ หากข้อความในบทความนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวนั้นรู้สึกขุ่นข้องหมองใจ อาจเพราะเนื้อหาเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง เพราะความบกพร่องที่ผู้เขียนหาข้อมูลไม่รอบด้านมากพอ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทางผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และยินดีน้อมรับคำติเพื่อปรับปรุงแก้ไข

ก่อนจะกล่าวถึงสไตล์นายกรัฐมนตรี ผมขอเวลาผู้อ่านสัก 5 นาทีได้ไหมครับ

เมื่อรู้ตัวว่าต้องเขียนเกี่ยวกับสไตล์การแต่งกายของนายกรัฐมนตรีไทย ผมจึงเริ่มค้นคว้าชีวิตแต่ละท่าน และอ่านประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย อ่านไป ก็ใจหายครับ เพราะการเมืองไทยช่างอายุสั้น เหมือนอายุงานของนายกแต่ละท่านที่ส่วนมากอยู่ไม่ครบเทอม ไม่ว่าจะด้วยการตัดสินใจลาออกเองเพราะถูกสถานการณ์บังคับ เพราะถึงกาลอันสมควร หรือเป็นเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไปจนถึงการทำรัฐประหาร หากการเมืองไทยคือละครเรื่องหนึ่ง ละครเรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยความเข้มข้น ช่วงชิงอำนาจ เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดยิ่งกว่าซีรีย์เกาหลีครับ ชวนติดตามอย่างยิ่ง

นอกจากรูปและเนื้อหาที่หาได้ในอินเตอร์เน็ต ผมเริ่มหาหนังสือประวัตินายกไทยมาอ่านพอสังเขป (ขอยอมรับตรงนี้ว่าอ่านไม่จบครับ หลายเล่มได้อ่านแค่ตัวอย่างไม่ครบเล่มในหน้าเว็บไซต์) ไม่ว่าจะเป็น ‘การต่อสู้ของข้าพเจ้า’ เขียนโดยพันตรีควง อภัยวงศ์ หรืออีกเล่มคือ ‘ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน’ เขียนโดยปรีดี พนมยงค์ และอีกหลายเล่ม พบว่าน่าสนใจทีเดียวครับ เพราะหนังสือเหล่านี้นำเสนอมุมมองที่ต่างกัน (ยังไม่นับหนังสือในสมัยใหม่อย่าง ‘ตาดูดาว เท้าติดดิน’ เขียนโดยทักษิณ ชินวัตร ที่อาจไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่นับว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน) มันทำให้ผมรู้สึกว่า ทุกคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง ส่วนความจริงคืออะไร อันนี้อยู่ที่วิจารณญาณของคนอ่านแต่ละท่าน และการรับฟังความเห็นจากหลายด้าน โดยเฉพาะความเห็นที่มาจากตัวบุคคลโดยตรง

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับสไตล์

ไม่เชิงหรอกครับ เพราะที่จะเขียนต่อไปนี้ เป็นแค่ข้อสังเกตเรื่องสไตล์การแต่งกายที่ปรากฏบนตัวแต่ละท่าน ท่านเหล่านั้นอาจคิดเองหรือมีสไตลิสต์ประจำตัว ผมไม่อาจทราบได้ แต่ที่ทราบแน่ๆ คือ คำว่าสไตล์ไอคอน หรือคนที่ผมยกให้เป็นไอคอนในการแต่งกาย คนที่สร้างแรงบันดาลใจให้อยากแต่งตาม คนคนนั้นต้องรู้จักความเป็นมนุษย์เสียก่อน มีอดีตสไตล์ไอคอนบางคน (ในทุกๆ วงการ) ที่เมื่อผมทราบภายหลังว่าเขาเป็นพวกนิยมความรุนแรง ทุบตีลูกเมีย เผด็จการ ไม่ให้เกียรติคน ไม่ซื่อสัตย์ ผมเลิกศรัทธาเขาทันที แม้เขาจะแต่งตัวดีแค่ไหนก็ตาม

ผมไม่ได้บอกว่าเลือกใครต่อไปนี้เป็นสไตล์ไอคอนหรือไม่ แต่นี่เป็นเพียงคือข้อสังเกตเรื่องสไตล์การแต่งกายจากนายกรัฐมนตรีไทยบางท่าน ที่เมื่อผมเห็นรูปแล้วพอจะพูดอะไรในเรื่องสไตล์ได้บ้าง ขอให้อ่านด้วยความสำราญและมีวิจารณญาณนะครับ

1. พันตรีดวง อภัยวงศ์


ซ้าย: ภาพถ่ายจากสำนักงานเลขารัฐสภา - สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา ๒๔๗๕ - ๒๕๐๒, ขวา: ภาพจาก voicetv.co.th นำมาจาก facebook ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

 


ครั้งแรกที่ผมเห็นภาพนี้ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของไทย ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก สายตาจ้องไปที่ fish mouth lapel เคียงข้างปกแหลมนั้น ปากปลาที่เปิดอ้าในองศาเปี่ยมชั้นเชิง ทำให้สูทกระดุมสองแถวปกแหลมตัวนี้ดู ‘เก๋าเกม’ อย่างยิ่งในสนามซาร์ทอเรียล ที่คุ้นตามักจะเห็นว่าระหว่าง lapel กับ collar ของปกแหลมนั้นมักไม่อ้าแบบนี้ครับ เหมือนปากปลาที่ปิดสนิท สวยเหมือนกัน แต่สวยคนละแบบ ผมไม่ค่อยเห็นใครทำในองศานี้ จะบอกว่าพอดีก็ไม่ได้ครับ เพราะมันแอบอ้าอย่าง exaggerated นิดหน่อย แต่โดยรวม กลมกล่อม ที่เห็นบ่อยๆ จนถือว่าเป็นเอกลักษณ์เห็นจะเป็นการทำปก notch ของ Smalto แต่ก็นั่นแหละครับ ก็ไม่เหมือนปกนี้อยู่ดี ครั้งหน้าหากจะตัดปกแหลม ลองพิจารณาจังหวะการอ้าปากของปากปลาตรงนี้ดูครับ มันให้กลิ่นอายย้อนยุคกลับไปราวๆ 1920-1940 นั่นคือเกือบ 100 ปีเลยทีเดียว

อีกข้อสังเกตที่มักเห็น หากส่องรูปพันตรีควง อภัยวงศ์คือ รัฐมนตรีในยุคนั้นมักสวมสูทสีสว่าง และแน่นอน ผูกไทเต็มยศ (แต่งตัวดีกว่าคนที่เราเห็นในสภาทุกวันนี้เยอะ) ซึ่งสูทออกไปทางครีมหรือขาวเลย ตรงนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ที่ต้องแต่งสีนี้เพราะพ้องกับค่านิยมหรือเหตุการณ์สำคัญอะไรในยุคนั้นหรือเปล่า แต่ก็นับว่าเป็นนิยามของการแต่งกายแบบ daywear โดยแท้

2. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

“พาวเวอร์สูท” อย่างสูทพินสไตรป์ (รูปนี้ค่อนไปทางชอล์คสไตรป์) ในทรงกระดุมสองแถวนั้นเหมาะแล้วครับกับบุรุษผู้พ่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย (และอีกหลายสมัยประปราย) และเคยเป็นผู้นำกลุ่มเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ในรูปนี้ เขายังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา (ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2487 ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 19 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่สหรัฐอเมริกา) สังเกตปกของสูทนี้ดีๆ ครับ จะเห็นเลยว่าจังหวะ fish mouth ของสูทตัวนี้ต่างจากสูทขาวครีมของพันตรีควง อภัยวงศ์อย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ 2 ท่านนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาด้วยกัน ปากปลาของปกนี้ปิดสนิทและทำมุมเป็นเส้นแนวนอนขนานกับพื้น ทำให้ปกแหลมของสูทตัวนี้ไม่ ‘พุ่งเฉียง’ ออกไปทางหัวไหล่เหมือนที่ปกแหลมสมัยใหม่มักทำ (บางแบรนด์พุ่งสูงจนจะเลยหัวไหล่ไปแล้ว) ไหนจะ silhouette แบบสูท old school ไหล่กว้าง อกเต็มแบบมี drape

แต่ที่ผมชอบที่สุดในภาพนี้คืออะไรรู้ไหมครับ? คือ collar gap หรือระยะห่างระหว่างคอคนกับคอสูท ที่ถ้าช่างเห็นเป็นต้องคันมือ และอยากตีมือคัทเตอร์ที่ตัดเย็บตัวนี้ ใช่ครับ ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นข้อบกพร่องของฟิตติ้งที่ไม่พอดี หรือเพราะ posture ของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ในอิริยาบถนี้ก็เป็นได้ แต่การที่คนใส่ยังใส่มันอย่างมั่นใจเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมว่าดี ถ้าไม่ถึงตาย มองข้ามข้อบกพร่องไปบ้างเถอะครับ ถึงเวลาที่ต้องใช้ ก็ใช้ไปก่อน ว่างๆ ค่อยไปแก้ อย่าทำตัวเป็นเมนส์แวร์เนิร์ดที่เอะอะก็ทนไม่ได้และหลายครั้งดันพาลไปวิจารณ์ฟิตติ้งคนอื่น เจ้าชายชาลส์ยังเคยสวมแจ็คเก็ตกระดุมสองแถวที่มี collar gap และใส่ถ่ายรูปเลยครับ หลังจากนั้นจึงให้ช่างไปแก้ฟิตติ้งจนออกมาสมบูรณ์

3. หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

เคยอ่านเจอในหนังสือ ‘เสียงพูดสุดท้าย’ บทสัมภาษณ์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นับเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นสุดท้ายก่อนที่พญาอินทรีจะโบยบินไปจิบไวน์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์กล่าวถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยจิตคารวะอย่างที่ศิษย์มีต่ออาจารย์ (’รงค์เคยกล่าวถึงขั้นที่ว่า ในวัยแตะยี่สิบ ถ้าไม่ได้โอกาสทำงานกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ชีวิตเขาอาจลงเอยด้วยการเป็นโจร) ’รงค์เรียกเขาว่า ‘คุณชาย’ เขาเรียก ’รงค์อย่างเมตตาว่า ‘ไอ้ปุ๊’ มีบทหนึ่งที่พูดถึงการแต่งตัวครับ ทำให้ทราบว่าคุณชายคึกฤทธิ์สมัยทำงานที่สยามรัฐนั้น เป็นคนแต่งตัวที่ ‘จัดจ้าน’ ในย่านนั้นเลยทีเดียว

รงค์เล่าว่า สมัยอยู่สยามรัฐ พนักงานผู้หญิงเฝ้ามองว่าเขากับคุณชายจะแต่งตัวอย่างไร เพราะการแต่งกายของทั้งคู่มักสวนทางกับสไตล์ของนักข่าวสยามรัฐที่มักแต่งกายด้วยกางเกงสีนวล เชิ้ตขาว ไม่พับแขน จนรงค์ต้องแซวว่าที่ทำงานเขามี ‘มหาเปรียญ’ เยอะ ซึ่งต่างจากเขากับคุณชายที่มักใส่สีฉูดฉาดอย่างเหลือง แดง ฟ้า

“วันหนึ่งคุณชายเดินไปที่โต๊ะมหาแล้วพูดว่าคนเรานี่นะ ถ้าจะใส่เสื้อสีสักวันมันจะยากเย็นอะไรนักหนา มันก็เหมือนเราตัดสินใจกระโดดน้ำตอนหน้าหนาวนั่นแหละ โดดแล้วก็อุ่น พูดจบ เดินไปทำงาน”

หม่อมราชวงส์คึกฤทธิ์ที่ผมคุ้นตาตามสื่อคือนักเขียนมาดปราชญ์ในชุดสูทสีเข้ม มาพร้อมผมสีขาวเทาเงางาม แว่นตากรอบดำซิกเนเจอร์ แต่เมื่อค้นรูปไปก็พบว่าคุณชายคึกฤทธิ์เป็นอีกคนที่แต่งตัวหลากหลายแนว ไหนจะชุดทักซิโด้ขาวหูกระต่ายดำที่เข้าฉากกับ Marlon Brando ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (1963) ไปจนถึงไอเทมธรรมดาอย่างเสื้อยืดขาวห้อยพระเครื่อง เขาล้วนเผยคาแรคเตอร์ส่วนตัวออกมาได้โดยไม่ถูกเครื่องแต่งกายบดบัง

4. พจน์ สารสิน


ซ้ายและขวา: พจน์ สารสิน ที่การประชุม SEATO ณ กรุงมะนิลาในปี 1954 ภาพถ่ายโดย Howard Sochurek / Time Inc.


เคยเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของไทย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATO อย่างในภาพสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการประชุม SEATO ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งพจน์และคนอื่นๆ ต่างสวมสูทสีขาวครีมโทนสว่างอย่างที่เราเห็นในภาพของพันตรีควง อภัยวงศ์ สิ่งที่เรียกความสนใจผมอย่างจังคือ ตำแหน่ง gorge หรือจุดเชื่อมระหว่าง collar และ lapel ของแจ็คเก็ตตัวนี้นั้นค่อนข้างต่ำ เป็นสุนทรียะแบบ old school ที่เหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย เพราะหากต่ำไปมากกว่านี้จะทำให้ปกดูเตี้ย แต่หากสูงไปก็ไม่ต่างจากปกแหลมสมัยนี้ (ที่ก็เน้นสูงและพุ่งไปทางหัวไหล่มาก) ไหนจะการเข้าไหล่ที่ ‘เรียบเนียน’ โดยไม่ยก rope ให้ดูชัดอย่างจงใจ (แบบ exaggerated rope shoulder หรือ pagoda shoulder) แต่ก็ไม่เรียบแบบระนาบเดียวกับการเข้าไหล่แบบ natural shoulder ที่มักปรากฏใน sack suit อเมริกัน (ลืม Spalla camincia ที่จับจีบน้ำตกที่หัวไหล่ไปได้เลย) เป็นการตอกย้ำว่า ‘ความพอดี’ คือหัวใจของความมีรสนิยม


อย่ามองข้ามจังหวะปกเชิ้ตกับไทในสามเหลี่ยมโชว์กึ๋น ปกคอตั้ง ป้านออกในจังหวะที่รับกับไท ไทเข้มชนสูทสว่าง ดูลอยไหม? ไม่ใช่แค่ ‘ใส่ได้’ แต่เห็นๆ กันอยู่ว่าใส่แล้วสวยมาก

ดูอีกรูปสิครับ ถ้าตาผมไม่ฝาด พจน์ไม่ได้กลัดกระดุม แม้เขาจะสวมสูทกระดุมสองแถว ‘ในงานประชุมระดับชาติ’ ที่แม้จะเป็นไปได้ว่าอาจอยู่ในโมเมนต์รีแล็กซ์จึงปลดออก ผมคนหนึ่งล่ะครับที่ไม่เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า สูทกระดุมสองแถวต้องกลัดกระดุมเท่านั้น และกลัดตลอดเวลา ผมมองว่า ในจังหวะที่สามัญสำนึกบอกว่า ต้องการความเหมาะสม ก็กลัดเถอะครับ เพื่อความคล่องตัวไม่รุ่มร่าม แต่มันก็ไม่ผิดอะไรหากจะใส่สูทหรือแจ็คเก็ตกระดุมสองแถวโดยไม่กลัดกระดุม เพราะการเปิดในจังหวะที่ถูกเวลานั้นดูผ่อนคลายและน่าเข้าหา เหมือนเป็นการบอกเป็นนัยว่า อย่าจำกัดตัวเอง

5. จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

หรือเรียกสั้นๆ ว่าจอมพล ป. แน่นอนครับ การเป็นผู้นำประเทศในภาวะสงครามโลกย่อมไม่ง่าย และนี่คือหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทในช่วงเวลาที่เข้มข้นที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ของ ‘อะไร’ หลายๆ อย่าง บ้างก็ว่าเขาเผด็จการชาตินิยม บ้างก็ว่าเขาก็มีมุมประชาธิปไตย บ้างก็ว่าเขาไม่ไว้ใจใครและไม่ถูกกับพระยาทรงสุรเดช (หนึ่งในคณะราษฎร) อย่างแรง บ้างก็ว่าเขาคัดง้างอำนาจกับเหล่า royalist บ้างก็ว่าเขาคือเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดกับปรีดี พนมยงค์ (ที่ตอนหลัง หลังจากที่ทั้งคู่ต่างลี้ภัยไปต่างประเทศ เขาทั้งคู่ส่งจดหมายติดต่อกันระหว่างปารีส-โตเกียว โดยใช้อักษรย่อหรือนามแฝง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นัดเจอกัน)

ขึ้นยศว่าจอมพล ภาพคุ้นตาที่ผมเห็นคงหนีไม่พ้นเครื่องแบบทหาร ถ้าไม่เต็มยศถึงคอ ก็เปิดคอแต่ผูกไท (ชวนให้คิดถึงการใส่จังเกิลแจ็คเก็ต หรือซาฟารีกับไทเพื่อตัดคอนทราสต์อย่างสไตล์ซาร์ทอเรียล ‘ทางเลือก’ ที่บางคนก็ทำในปัจจุบัน) ชวนให้คิดครับว่า ในเวลาลำลอง จอมพลท่านนี้แต่งตัวอย่างไร จนไปเห็นวิดีโอที่บันทึกภาพจอมพล ป. ในช่วงบั้นปลายชีวิตขณะอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น เขาขอลี้ภัยทางการเมืองหลังถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500) เทปนี้บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2502 เป็นเวลา 5 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2507 โดยบ้านพักหลังสุดท้ายอยู่ในย่านซากามิฮาระ จังหวัดคานากาวะ ที่ปัจจุบันย่านนั้นเปลี่ยนไปเยอะ แต่ใครไปญี่ปุ่นครั้งหน้า ลองแวะไปสัมผัสบรรยากาศดูนะครับ

มาเข้าเรื่องของเรา สิ่งที่ผมชอบที่สุดในลุคนี้คือ proportion หรือสัดส่วนของทั้งสูทกรมท่า ขนาดปกเชิ้ตที่โค้งพอดี (ดูคล้ายปก tab collar ถ้าไม่ใช่ ขอภัยด้วยครับ) สังเกตช่องว่างระหว่างปกเชิ้ตที่สอดรับกับขนาดปมเนคไทสิครับ เด็ดขาด เสื้อกั๊กที่คล้ายๆ สเว็ตเตอร์วูลสีเทาเข้ม (ถ้าผิด ก็ขออภัยอีกเช่นกัน) นั้นทำให้ลุคนี้มีมิติ แต่ยังดูสุขุม นิ่ง และ ‘คม’ สมสถานะอดีตจอมพล

6. ปรีดี พนมยงค์


ตามเข็มนาฬิกา: ปรีดี พนมยงค์ สมัยไปศึกษาที่ฝรั่งเศส ถ่ายภาพร่วมกับนายควง อภัยวงศ์ (ซ้าย) นายชม จารุวัฒน์ (ขวา) ภาพจาก the101.world, ปรีดี พนมยงค์ ในทักซิโด้ ภาพจากหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ และ ส. ศิวรักษ์ ภาพจากสถาบันปรีดี พนมยงค์

 


นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย และถือเป็นนายกคนสุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร คนรุ่นหลังรู้จักเขาในฐานะหนึ่งในคณะราษฎร ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 เขามีบทบาทในการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นธรรมนูญที่มาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทยในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่พระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้ ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่อ่านง่าย เรียบง่าย และตรงไปตรงมาที่สุดฉบับหนึ่งที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่ก็เช่นเดียวกับผู้นำประเทศหลายๆ คนครับที่มีคนรัก ก็มีคนไม่รัก บางโครงการของปรีดีนั้นถูกตีความว่ามีความเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่มีเนื้อหาค่อนไปทางสังคมนิยม ทำให้หลายคนค้านว่าไม่เหมาะกับเมืองไทยตอนนั้น (เท่าที่ผมเข้าใจคือ หากมองย้อนกลับไปที่เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ หากใช้จะคล้ายๆ กับ ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่เกิดขึ้นในประเทศแถบสแกนดิเนเวียในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ใช้ระบบเศรษฐกิจที่ค่อนไปทางสังคมนิยม ซึ่งนับว่าเป็นความคิดที่ล้ำยุคและมาก่อนกาลมากทีเดียว)

มาถึงเรื่องสไตล์ของปรีดีกันบ้าง จากการสืบค้น เขาเป็นคนช่างแต่งตัวตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ อย่างรูปทักซิโด้ปกแหลม เชิ้ต wing collar ตรงตามตำรา black tie กับหูกระต่ายดำทรงเหลี่ยมเล็กแบบสมัยนิยม อีกข้อสังเกตคือ เขามักปรากฏตัวในชุดสูทเต็มยศ และหลายๆ ครั้งคือสูทสามชิ้น ใส่มาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ จนถึงช่วงบั้นปลายชีวิตที่ชานกรุงปารีส หรือต่อให้สวมแจ็คเก็ต (อย่างรูปที่ถ่ายคู่กับ ส. ศิวลักษณ์) เขาก็มักสวมเสื้อกั๊กข้างในให้ครบ 3 ชิ้น สิ่งที่ผมชอบมากในการใส่สูทของปรีดีคือ แม้จะใส่สูทสามชิ้น แต่เป็นการใส่ที่ดูเป็นธรรมชาติ ไม่เอิกเกริกแบบเรียกความสนใจจากทุกสายตา แต่กลับเข้ากับบริบท หน้าที่การงาน และสถานการณ์ในชีวิตของเขา เรียกได้ว่า คลาสสิค สง่างาม และน่าเกรงขาม อันเป็นนิยามที่บ่งบอกสไตล์และตัวตนของเขาได้อย่างชัดเจน

Previous Article Next Article