ที่ Wardrobe Ministry เราชื่นชอบการเปิด Podcast ฟังไม่ว่าจะระหว่างที่ขับรถหรือนั่งทำงานในออฟฟิศ วันนี้จึงถือโอกาสหยิบยกเรื่อง Podcast มาเขียนให้อ่านกัน โดยในบทความนี้จะเป็นการแนะนำ Podcast จากห้าค่าย ที่เราเปิดฟังอยู่เป็นประจำ เน้นหลักไปที่เรื่องของการแต่งกายที่หมายรวมถึงเครื่องประดับชิ้นสำคัญของสุภาพบุรุษอย่างเรือนเวลา และเรื่องของไลฟ์สไตล์ต่างๆ ด้วย
Unbuttoned
เริ่มต้นด้วยบทสัมภาษณ์จากปรมาจารย์ด้านคลาสสิคเมนส์แวร์ หากคุณคุ้นเคยกับคำว่า “Sprezzatura” หรือเป็นผู้หนึ่งที่ในอินสตาแกรมกดติดตามร้านเสื้อผ้าอย่าง The Armoury เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่รู้จัก G. Bruce Boyer ไม่ว่ากัน หากคุณไม่คุ้นชินกับชื่อนี้มาก่อน ให้เราได้แนะนำ G. Bruce Boyer ให้คุณได้รู้จัก เขาคือหนึ่งในผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของวงการคลาสสิคเมนส์แวร์ G. Bruce Boyer เป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการแต่งกายของสุภาพบุรุษเอาไว้หลายเล่ม เขายังเป็นผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “Sprezzatura” ซึ่งคือการใส่สูทผูกไทแบบอิตาเลี่ยน ลดความเป็นทางการแบบ Savile Row ลงไปนั่นเอง
ใน Podcast ของ Unbuttoned เป็นการเล่าเรื่องผ่านบทสัมภาษณ์ ระหว่าง Pedro Mendes และ G. Bruce Boyer แต่ละตอนจะพูดถึงการแต่งกายแบบคลาสสิคเมนส์แวร์ ในหลายๆ รูปแบบ เช่นในตอนแรก G. Bruce Boyer พูดถึงการแต่งกายแบบ Ivy League หรือนักเรียนอเมริกัน ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการความหลงใหลต่อสูท เสื้อเชิ้ต เนคไท และกางเกงแบบมีจีบ ที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกันของ Bruce หรือในตอนที่สองและสาม ที่เขาพูดถึงสถานที่สองแห่งที่มีอิทธิพลต่อโลกคลาสิคเมนส์แวร์คือ Savile Row ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ Bruce ได้ลองตัดสูทแบบ Bespoke เป็นครั้งแรก และที่ประเทศอิตาลีที่เขาได้ทำความรู้จักกับช่างตัดสูทที่ครั้งหนึ่งเคยตัดให้แก่ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์
Hodinkee Radio
ถัดมา มาดูกันที่ Podcast เกี่ยวกับเรือนเวลากันบ้าง เมื่อพูดถึงนาฬิกา เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ผู้ที่ขับเคลื่อนคอนเทนท์เกี่ยวกับนาฬิกาทั้งในออนไลน์และในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีที่สุดคือ Hodinkee ริเริ่มโดยความรักในการเรียนรู้ การสะสม และการทำความเข้าใจหนึ่งในกลไกที่ซับซ้อนแต่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก Benjamin Clymer เริ่มจากการก่อตั้งเว็บไซต์ให้ความรู้เกี่ยวกับนาฬิกา เริ่มทำช่องใน YouTube ก่อนที่จะเริ่มทำ Podcast ในที่สุด สำหรับช่อง Podcast ของ Hodinkee จะมีลักษณะคล้ายๆ กับช่วง Talking Watches ในช่อง YouTube ของ Hodinkee คือการเชิญผู้ที่หลงรักในนาฬิกาเช่นเดียวกับ Ben มาพูดคุยกันถึงของสะสมหรือที่เรียกกันว่า “กรุ” นาฬิกา ให้ผู้ชมได้ยลโฉม
และถึงแม้ใน Hodinkee เราซึ่งเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ฟัง จะไม่สามารถมองเห็นนาฬิกาเรือนต่างๆ ได้ แต่เรื่องเล่าที่น่าประทับใจของแขกรับเชิญหลายๆ คน ที่ไม่เคยไปเล่าที่ไหนมาก่อน อย่างเช่นในตอนหนึ่งที่แขกรับเชิญคือ Mark Cho ผู้เป็น Co-Founder ของร้านสูท The Armoury และหุ้นส่วนคนสำคัญของ Drake’s ในตอนนั้น Mark เล่าถึงนาฬิกา F.P. Journe ของเขา ที่เมื่อนำไปซ่อมบำรุง ทางศูนย์ได้เรียกเก็บนาฬิกาคืนไป เพราะมันเป็นนาฬิกาที่ครั้งหนึ่งถูกขโมยไปจากร้านที่ปารีส ต่อมา Mark จับพลัดจับผลูไปพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ และได้ร่วมกันออกแบบ F.P. Journe สำหรับตัวของเขาเองและเพื่อนๆ อีกไม่กี่คนอีกด้วย
Blamo!
Blamo! ดำเนินรายการโดย Jeremy Kirkland เชิญแขกรับเชิญต่างๆ จากโลกของแฟชั่นมาพูดคุยถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของพวกเขา (ที่ไม่เคยไปเล่าที่ไหนมาก่อนเช่นกัน) แน่นอนว่าแขกรับเชิญแต่ละคนของ Blamo! ก็ไม่ใช่ธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น Jim Moore ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของนิตยสารไลฟ์สไตล์สุภาพบุรุษ GQ Chris Grainger CEO ของแบรนด์นาฬิกา IWC Schaffhausen Toby Bateman ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Mr. Porter หรือแม้แต่ Wei Koh เจ้าของนิตยสารเรือนเวลา Revolution และไลฟ์สไตล์สุภาพบุรุษอย่าง The Rake
Handcut Radio
อีกหนึ่ง Podcast ที่พูดถึงโลกของการแต่งกาย ดำเนินรายการโดย Aleks Cvetkovic ผู้ที่เห็นว่าการแต่งกายของสุภาพบุรุษเป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดอ่อน ลักษณะของเนื้อหา Podcast คล้ายคลึงกันกับ Blamo! เพียงแต่ HandCut จะเน้นไปที่ตัวอุตสาหกรรมเมนส์แวร์มากกว่า ตัวอย่างแขกรับเชิญที่ Aleks เชิญมาร่วม Podcast ก็ล้วนแต่เป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วยทั้งสิ้น เช่น Michael Hill ผู้เป็น Creative Designer ของ Drake’s
โดยในตอนดังกล่าว Michael เล่าถึงที่มาที่ไป อัตลักษณ์ และการดำเนินงานของ Drake’s ภายใต้การบังคับบัญชาของเขา หลังจากที่ Drake’s เปลี่ยนรูปแบบกิจการ จากการขายเพียงเนคไท (ในยุคของคุณพ่อ Michael) เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจคลาสสิคเมนส์แวร์เต็มตัวที่มีทั้งเสื้อเชิ้ต สูท รองเท้า รวมถึงเนคไทและผ้าเช็คหน้ากระเป๋าแจ็คเก็ตด้วย หรือในอีกตอนหนึ่งที่แขกรับเชิญคือ Gauthier Borsarello ผู้คร่ำหวอดในวงการเสื้อผ้าวินเทจ และมีหน้าร้านอยู่ที่ปารีส โดยเขาได้เล่าถึงการจับจ่ายใช้สอย การเลือกดูเลือกซื้อ ชนิดและประเภทของเสื้อผ้าวินเทจ ซึ่งเป็นทั้งข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นคำแนะนำที่มีค่ายิ่งสำหรับผู้ฟังที่หลงใหลในเสื้อผ้าจำพวกนี้เช่นเดียวกัน
Put This On
มาถึง Podcast สุดท้ายที่เราอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จัก สำหรับ Put This On ที่เริ่มจากการเป็นเว็บไซต์เขียนบล็อกเกี่ยวกับการแต่งกายเช่นกัน ด้วยอารมณ์ขันของสองผู้ดำเนินรายการ Jesse Thorn และ Adam Lisagor ที่เห็นตรงกันว่า ควรจัด Podcast เพื่อแนะนำผู้ชายคนไหนก็ตามที่อยากอัพเกรดการแต่งกายของตนเองให้ดู “โตขึ้น” ตอนต่างๆ ใน Podcast มักพูดถึงเครื่องแต่งกายชิ้นใดชิ้นหนึ่งในตอนต้นอย่างยีนส์และรองเท้า รวมถึงการดูแลตนเองทั้งผิวหน้า รูปร่าง และบุคลิก
นอกจากนั้น Podcast ของ Put This On ยังมีความแตกต่างจาก Podcast ที่รายการที่เราแนะนำไปเบื้องต้น เนื่องจากตอนส่วนใหญ่มักมีความยาวไม่ถึงสิบนาที ดังนั้นหากคุณผู้อ่านต้องการฟังอะไรยาวๆ ระหว่างขับรถกลับบ้านวันศุกร์เย็น Put This On อาจจะไม่เหมาะมากนัก แต่หากต้องการหาอะไรฟังระหว่างช่วงพักเที่ยงที่เร่งรีบ ไม่ควรมองข้าม Podcast นี้ไป