Linen Suits For Summer Weddings

สูทลินินกับเจ้าบ่าวไทย

สูทลินินกับเจ้าบ่าวไทย เสน่ห์แห่งความยับ และวิธีใส่เข้าสู่ประตูวิวาห์หน้าร้อน

บทความโดย Korakot Unphanit, Guest Writer


ครับ ผมมีความจริงเกี่ยวกับลินินมาบอกคุณสามอย่าง

หนึ่ง มันร้อน

สอง มันยับ

และสาม มันไม่เป็นทางการ (ขนาดนั้น)

ก่อนจะติ๊กถูกทั้งสามข้อ ขอขยายความ


Tampopo (1985) แม้ผู้เขียนจะยังไม่ชัวร์ว่าสูทนี้คือ gabardine wool, fresco หรือ Irish linen แต่นี่คือโทนสีที่ใช่ ใส่แต่งงานได้ไม่เขิน สังเกตการสไตลิ่งและรักษาโทนในภาพรวมที่ทำให้สูทโทนอ่อนนี้ดูเป็นทางการและรีแล็กซ์ในเวลาเดียวกัน

 


ก่อนอื่น... ปรับทัศนคติเกี่ยวกับสูทลินิน


ข้อแรก มันจะร้อนได้ยังไง ก็เห็นอยู่คู่ทุกคอลเลคชั่น spring/summer? ไม่เถียงครับ เพราะลุคมันดูซัมเมอร์ จะมีอะไรผ่อนคลายกว่าการนอนทอดอารมณ์รับลมร้อนริมหาด จิบไหมไทย และใส่เสื้อลินินยับๆ กลัดกระดุมน้อยเม็ด และเอาเข้าจริงๆ มันไม่ได้ร้อนขนาดทนไม่ได้ แต่คนที่เหงื่อแตกใต้วงแขนจะเข้าใจครับว่า การระบายอากาศของลินิน คอตต้อน หรือผ้าที่ทอจากเส้นใยพืชนั้น กว่าเหงื่อใต้วงแขนจะแห้งก็กินเวลานานพอจะทำให้คุณรู้สึกเปียกแฉะใต้รักแร้ และเรียกความสนใจทุกครั้งที่โบกมือทักทายเพื่อน และเมื่อแห้ง ยิ่งสูทหรือเชิ้ตสีเข้ม ก็ไม่วายทิ้งลายด่างดวงของคราบน้ำไว้เป็นที่ระลึก 

จริงอยู่ที่แม้ร่างกายจะไม่ได้รู้สึกร้อนขนาดนั้น แต่เมื่อเทียบกับผ้าวูลบางๆ สัก 270 กรัมแบบซัมเมอร์วูลแล้ว ผ้าวูลเย็นกว่าครับ ฟังไม่ผิด วูลนี่แหละครับเย็นกว่า นี่ขัดกับความเชื่อของคนไทยหลายคนที่แค่ได้ยินคำว่าวูลก็เหงื่อตกแล้ว แต่วูล โมแฮร์ ที่ไม่หนักจนเกินไป และทอในรูปแบบที่เหมาะสมนั้นคือตัวเลือกที่ไม่เคยหักหลังคนรักสูท และที่มันไม่ร้อนเพราะเส้นใยวูลนั้น เมื่อเจออากาศร้อน มันขยาย เมื่อหนาว มันหดตัว การระบายอากาศแบบนี้ทำให้ร่างกายไม่สูญเสียความร้อน และไม่รับความร้อนเข้ามาจนระบายออกไม่ทัน ผ้าวูลนี้จึงเป็นคำตอบสุดคลาสสิคของสูท 4 ฤดูในยุค global warming


On Her Majesty’s Secret Service (1969) George Lazenby สวมบทบาท James Bond ในชุดสูทลินิน silhouette ร่วมสมัย สังเกตเชิ้ตชมพูอ่อนปกป้านเข้าขากับ knit tie กรมท่า ถ้าคุณไม่ติดว่าชุดนี้อาจก้ำกึ่งระหว่าง business casual นี่คืออีกหนึ่งชุดที่ไม่เลวเลยสำหรับเจ้าบ่าวสายชิล

 


ข้อสอง มันยับ ใช่ครับ ใส่ยังไงก็ยับ และมันควรจะยับด้วย คุณแค่ต้องแยกให้ออกระหว่างรอยยับอย่างมีสุนทรียะกับรอยยับเหมือนลืมรีด ลินิน 100% (แนะนำ Irish linen) น้ำหนักสามร้อยกว่ากรัมขึ้นไปคือคำตอบหากคุณต้องการสูทลินินที่ยับสวย กางเกงอยู่ทรง จีบติดทนนาน และยังมีแววของความเป็นทางการ สมศักดิ์ศรีความเป็นสูท และอย่าพะวงกับรอยยับครับ เพราะนั่นไม่ใช่ข้อเสีย แต่คือเอกลักษณ์และเหตุผลที่คุณเลือกสวมสูทลินิน 

เช่นกันกับที่สูทคอตต้อนมีเอกลักษณ์ในการเฟด ไม่เชื่อลองหยิบแจ็คเก็ตคอตต้อนตัวเก่ามาพลิกปกขึ้นดูสิครับ แล้วคุณจะเห็นว่าผ้าใต้ปกนั้นมีมีสีที่เข้มกว่าผ้าส่วนนอกที่โดนแดดเลียอย่างชัดเจน ยังไม่นับรอยยับบริเวณแขนที่อาจก่อริ้วเฟดบางๆ เป็นสายคล้ายรอยเฟดบนหน้าขาของกางเกงยีนส์สีบลูตัวโปรด นั่นคือสิ่งที่ทำให้สูทคอตต้อน ยีนส์ และลินินนั้น ‘พัฒนา’ อยู่ตลอดเวลา โดยแสดงออกผ่านรอยเฟดและความยับที่ประทับประสบการณ์แห่งชีวิตเอาไว้ พูดง่ายๆ ถ้ายอมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ตัดใจจากมันซะ

สาม หมายความว่าไงที่บอกว่าไม่ฟอร์มอล เห็นเขาใส่แต่งงานกันเกลื่อน? โอเค ลินินในน้ำหนัก ทรง และสีที่เหมาะสม ยิ่งใส่ในบ้านเมืองที่การสวมเสื้อยืดไปประชุมงานกับลูกค้านั้นยอมรับกันได้ จึงไม่แปลกเลยที่การปรากฏกายในชุดสูทเต็มยศ ไม่ว่าจะผ้าอะไรก็ตาม ขอแค่ตัดในทรงสูท ก็ดูเป็นทางการเพียงพอแล้วในสายตาคนทั่วไป แต่หากคุณเทียบกับสูทประเภทอื่นๆ แล้ว สำหรับผม ลินินถือเป็นสูท ‘ใส่เล่น’ ซะมากกว่า

ทีนี้... ทำความเข้าใจกับระดับความทางการ


Igor Stravinsky และ Leonard Bernstein ในชุด white tie เต็มยศ

 


ก่อนจะไปไกล ผมอยากไล่ระดับความเป็นทางการของเครื่องแต่งกายต่างๆ สำหรับงาน ceremony ไว้ดังนี้ครับ เผื่อจะเห็นภาพมากขึ้นว่าทำไมลินินจึงไม่ใช่คำตอบของสูทตัวแรกๆ ที่คุณควรมี

มาเริ่มกันที่ evening wear ที่ฟอร์มอลที่สุดนั่นคือ white tie ผูกหูกระต่ายสีขาว โค้ทหางยาวกับหมวกนักมายากลทรงสูง นี่คือเดรสโค้ทที่ลืมไปได้เลยครับ เพราะแทบจะหางานที่เป็นทางการระดับนี้ได้ยากมาก นอกจากคุณจะเป็นเชื้อพระวงศ์ ทูตที่ร่วมงานเลี้ยงของเชื้อพระวงศ์ หรือไม่ก็วาทยากรในโรงมหรสพระดับตำนาน


The Godfather (1972) Marlon Brando สวมวิญญาณ Vito Corleone ในชุดทักซิโด้ดำสนิท เพื่อร่วมงานแต่งของลูกสาว ลูบคางแมว และกำลังยื่นข้อเสนอที่ใครก็ไม่อาจปฏิเสธได้

 


หากเปรียบเทียบง่ายๆ white tie ก็มีน้องชายที่พอจะเห็นหน้าค่าตาบ่อยหน่อย นั่นคือ black tie กล่าวได้ว่า นี่อาจเป็นเดรสโค้ทในระดับความเป็นทางการที่พบได้บ่อยในโลกยุคใหม่ โบว์ไทสีดำ ดินเนอร์แจ็กเก็ตสีดำ กรมท่า หรือขาวงาช้าง กับกางเกงดำและรองเท้าโอเปร่าปั๊มผูกโบว์ คือเครื่องแบบที่ควรมีติดบ้านไว้ (อย่าเช่าเด็ดขาด) เพราะมันพาคุณไปได้ตั้งแต่งานซิทดาวน์ดินเนอร์ ชมโอเปร่า ไปจนถึงการขึ้นรับรางวัลออสการ์ยันสุพรรณหงส์


Inglourious Basterds (2009) Brad Pitt กับบทบาท Aldo Raine ในชุดทักซิโด้สีงาช้าง กระดกแชมเปญ และพ่นภาษาอิตาเลียนงูๆ ปลาๆ เพื่อตบตานาซี

 


ส่วนเครื่องแบบที่เป็นทางการที่สุดยามพระอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า คือ morning dress อย่างที่คุณเห็นเหล่าราชวงศ์วินเซอร์แห่งสหราชอาณาจักรใส่ในงาน royal wedding ข่าวดีคือ คุณพอจะหาโอกาสใส่ชุดนี้แต่งงานได้ครับ หากเป็นพิธีช่วงกลางวัน และคุณอยู่ที่อังกฤษหรือประเทศที่ยังรับคัลเจอร์นี้อยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า หายากเต็มที (ขอนอกเรื่องนิดนึง ผมเคยเห็นคนใส่ชุดนี้ไปงานเปิดตัวนาฬิกาแบรนด์หนึ่งในไทย แปลกดีครับที่เห็นคนใส่ morning dress เต็มยศคือโค้ทยาว เสื้อกั๊ก กางเกงสไตร์ปสีเทา และหมวกทรงสูง ถ้าจำไม่ผิด มีไม้เท้าด้วย แต่ใส่ในงานกลางคืน ไม่ผิดครับที่จะใส่ แต่เห็นได้ชัดว่าการใส่โดยไม่รู้ประวัติศาสตร์หรือฟังก์ชั่นนั้น ทำให้คนใส่ในวันนั้นดู ‘ผิดที่ผิดทาง’ เหลือเกิน) 

และคล้ายกับ white tie ที่มีน้องชายคือ tuxedo เพราะ morning dress ก็มีชุดในขั้นรองลงมาแบบ semi-formal นั่นคือ stroller suit คล้ายกับ morning dress แต่เปลี่ยนจากโค้ทหางยาวเป็นแจ็กเก็ตสีดำ (หรือไม่ก็ midnight blue) ในทรงเดียวกับแจ็คเก็ตสูทสมัยนิยม ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ไอ้แจ็คเก็ตดำที่คนสาย sartorial จ๋าต่างพากันแอนตี้นั้น ครั้งหนึ่งมันคือชุดที่ฟอร์มอลมากๆ ขนาดใส่แต่งงานได้สบาย ซึ่งในความคิดเห็นของผม นี่คือเครื่องแบบที่เท่ นิ่ง และลึกมาก แต่หากผิดบริบท (ซึ่งหาโอกาสใช้ได้ยากมาก) ก็ดูคอสตูมมากเช่นกัน


สมเด็จพระจักรพรรดิหลวงอากิฮิโตะสวม morning dress เต็มยศในพิธีสละราชสมบัติ สิ้นสุดยุคเฮเซและเข้าสู่ยุคเรวะ

 


แล้วชุดสูทปัจจุบันที่เราให้ค่าว่าฟอร์มอลนักหนา ความเป็นทางการของมันอยู่ตรงไหนในอดีต?

คำตอบคือ ชุด lounge suit ที่เราใส่นั้นคือเครื่องแบบแรกที่เริ่มแตะเส้น casual ครับ พูดง่ายๆ สำหรับงานแต่งในอดีต เลาจ์สูทคือชุดที่เป็นทางการน้อยที่สุดที่เจ้าบ่าวจะเลือกใส่ ซึ่งหากเจาะรายละเอียดลงไป จะแยกได้อีกว่าสูทแบบไหนเป็นทางการมากหรือน้อย

และหากวินิจฉัยความเป็นทางการจากคุณสมบัติต่างๆ ของเนื้อผ้า อาทิ ผ้าที่มีสีเข้ม เงางาม ทอละเอียด ลายน้อย (หรือไม่มีลาย) มี finishing ที่เรียบเนียนนั้นดูเป็นทางการกว่าผ้าสีอ่อน เนื้อด้าน ทอห่าง ลายพร้อย และ finishing แบบหยาบ (นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นภาพผิวเผินเท่านั้น เพราะการพิจารณาว่าผ้าแบบไหนเป็นทางการหรือไม่ ต้องดูในมิติทางสังคมที่ลึกลงไปกว่าที่กล่าวมา) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสูทลินิน แม้จะเป็นสีในโทนสุภาพอย่างกรมท่า แต่ด้วยเนื้อผ้าที่หยาบกว่า และเอกลักษณ์ที่ยับง่าย ย่อมดูแคชวลกว่าสูท worsted wool หรือโมแฮร์ในสีเดียวกัน

แต่ถ้าเจ้าบ่าวยืนยันจะใส่สูทลินินล่ะ ได้ไหม ได้สิครับ และเอาเข้าจริงๆ มันเข้าท่านะ ถ้าคุณทำเป็น


เมื่อสัปดาห์ก่อน รุ่นพี่ผมโทรมาปรึกษาเรื่องชุดเจ้าบ่าว โดยโจทย์ของเขาคือ พิธีแต่งงานช่วงกลางวัน จัดที่โรงนาในฟาร์มเล็กๆ ของฝ่ายเจ้าสาวในจังหวัดสุโขทัย ภาพในใจเขาคือสูทลินิน เชิ้ตขาว ผูกไท และใส่หมวกแก็ป ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ประจำตัวเขา ผมเห็นด้วยครับ เพราะนี่มันงานแต่งเขา ไม่ใช่งานแต่งผม เขามีสิทธิ์จะใส่หรือทำทุกอย่างที่เขาต้องการ แต่หน้าที่ของผมคือการขัดเกลาให้เขายังคงสง่างามอย่างที่เจ้าบ่าวควรจะเป็น พูดง่ายๆ คือต้องดูรู้ว่าใส่สูทลินินนี้มาเข้าพิธีแต่งงาน ไม่ใช่เหมือนบึ่งมาจากออฟฟิศ เปลี่ยนเชิ้ตกับเนคไทและขึ้นเวทีไปรินแชมเปญได้เลย

คำตอบจึงตกมาที่สูทลินินสีออฟไวท์ในโทนขาวงาช้าง หรือเข้มนิดนึงแต่ไม่ถึงกับเหลือง ในทรง single breasted กระดุมสามเม็ด เขาใส่กับกางเกง single pleat ที่ให้ช่างตัดโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากกางเกงสแล็คเวิร์คแวร์ที่พนักงานการรถไฟญี่ปุ่นใส่ช่วงสงคราม แน่นอนครับ มันคือกางเกงตัวโปรดของเขา สูทชุดนี้จึงผนวกเอาความหลงใหลในของวินเทจของเจ้าบ่าว กับความคมของเทเลอร์ตำรับคลาสสิคเข้าด้วยกัน หลายคนอาจรู้สึกว่ามันผิดตำราสูทแต่งงาน แต่อย่าลืมพิจารณาถึงบุคลิกเจ้าบ่าวด้วยครับ อย่างรุ่นพี่คนนี้ เขาเป็นช่างภาพ ใช้ชีวิตสบายๆ และไลฟ์สไตล์ไม่ได้ฟอร์มอลขนาดนั้น เผลอๆ ทั้งสูทและเชิ้ต เมื่อเสร็จจากงานนี้ เขาต้องเอาไปใช้ต่อได้ นึกภาพเขาใส่แจ็คเก็ตลินินสีครีมตัวนี้ เข้าคู่กับยีนส์ซีดขึ้นเฟด และรองเท้าผ้าใบ ก็พร้อมแล้วที่จะควงกล้อง Ricoh คู่ใจไปบู๊งานสตรีทแฟชั่นต่อได้โดยไม่ดูคอสตูม

ส่วนเสื้อเชิ้ต แม้เขาจะชอบเชิ้ตขาวเซอร์ๆ ผ้าอ็อกซ์ฟอร์ดเนื้อหยาบปก button-down ทรงใส่สบาย แต่งานนี้ ผมจำต้องท้าทายให้เขาออกจากคอมฟอร์ตโซนครับ เพราะนี่คือวันพิเศษ แต่ต้องแน่ใจว่าการท้าทายครั้งนี้จะไม่หลุดจากวงโคจรของรสนิยมที่เป็นตัวเขา จึงจบลงที่เชิ้ตขาวผ้าอ็อกซ์ฟอร์ดเนื้อละเอียดที่ใส่งานทางการได้ไม่ระคายผิว ตัดทรงพอดีตัว ปก spread-collar ในมุมป้านให้พอผูกปมเนคไท four in hand ได้สวยพอดี หรือถ้าใจเขายังฝักใฝ่กับปก button-down ผมจะเลือกผ้า poplin และกำชับให้ช่างตัดปกให้ยาวสัก 9 เซนติเมตร ต้องทำองศา collar roll เป็นรูปตัวเอสที่ไม่โค้งมากจนดูจงใจ ป้านออกในมุมที่ไม่แหลมตรงแบบ spear point collar และต้องแน่ใจว่าปลายปกเชิ้ตนั้นสอดใต้ lapel สูทได้พอดี นั่นคือ button-down ที่ดู dressy พอจะช่วยฉุดให้สูทลินินดูเป็นทางการขึ้น อ่อ และอย่ามองข้ามรองเท้าอ็อกซ์ฟอร์ดสีดำ น้ำตาลเข้ม ถ้ากลัวคอนทราสต์หนักไป จะน้ำตาลโทนกาแฟใส่นมก็กลมกล่อมกับชุด เลือกทรง whole cut หรือ cap toe อย่า brogue มาก ระลึกไว้เสมอว่า งานนี้ นิ่งไว้ เป็นดี

มาถึง accessories อย่าลืมหย่อนพ็อคเก็ตสแควร์สีขาว ผูก wedding tie สีกรมท่าล้วน (อาจลดคอนทราสต์ด้วยการเปลี่ยนจากเชิ้ตขาวเป็นฟ้าหรือเทา) หรือไม่ก็ไทซิลเวอร์ หรือสีเทาโทนอ่อน พัก knit tie ไว้ก่อน อย่าลืมหยอดดอกไม้เล็กๆ ไว้ที่ milanese buttonhole สุดท้าย สูดหายใจลึกๆ ครับ เพราะวันนั้น ไม่เหมือนวันไหนในชีวิตเขาแน่ๆ นอกจากจะไม่คุ้นกับการเป็นเจ้าบ่าวแล้ว (ไม่มีใครคุ้นหรอกครับ) เขายังอาจไม่มั่นใจกับชุดที่ดูทางการกว่าทุกวัน (แม้จะอยู่บนฐานของสูทแคชวล) แต่อย่ากลัวครับ ไอ้ความไม่มั่นใจจนคิดว่าอาจไม่เหมาะกับตัวเองนี้ ลองถามตัวเองดูดีๆ ว่า มันไม่เหมาะจริงๆ หรือแค่ไม่ชินกับมัน

จากนั้น กุมมือเจ้าสาวแน่นๆ พกความมั่นใจออกไปสบตาบาทหลวง พ่อตา และแขกเหรื่อ เท่านี้ก็พร้อมเดินเข้าพิธีแต่งงานในโรงนา ป่าเขา หรือริมหาดได้แล้วครับ

ระลึกไว้เสมอครับว่า แม้จะใส่สูทลินินหรือแม้แต่คอตต้อนที่ดูแคชวลมาก ก็ต้องรักษาความสง่างามเอาไว้ นั่นคือหัวใจของเจ้าบ่าว และเสื้อผ้าควรเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขาต้องกังวลในวันนั้น

สู้เก็บความกังวลนั้นไปใส่ใจกับลำดับพิธีการ ญาติผู้ใหญ่ และที่สำคัญ เจ้าสาวผู้กุมมือชิดใกล้ที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นคู่ชีวิต

Previous Article Next Article