ลูกค้าใหม่กรอกโค้ด FIRSTORDER10 ในหน้าเช็คเอาท์ ลดเพิ่มอีก 10% ทันที

How To Wear A Grey Suit

How to wear a grey suit

Guest Writer ของเราเล่าถึงสูทสีเทาเจ้าปัญหา วิธีการเลือกผ้าที่ใช่ และความพอดีตามวลีนานาจิตตัง

บทความโดย Korakot Unphanit, Guest Writer


การตัดสินใจเลือกผ้านั้น สัมพันธ์กับ learning curve

ที่เกริ่นว่านานาจิตตังนั้น ตรงตามความหมาย คือสไตล์ใคร สไตล์มัน และต้องขอออกตัวก่อนครับว่า การเลือกผ้านั้นมีหลายปัจจัยและเขียนหนังสือได้เป็นเล่มๆ บทความนี้จึงเป็นเพียง ‘ความคิดเห็นส่วนตัว’ ของผมเท่านั้น ไม่อาจเหมารวมได้ว่าพนักงานขาย เทเลอร์ หรือนักเขียนทุกท่านจะคิดแบบนี้ ถือเสียว่าอ่านเพลินๆ จะดีใจมากหากมันพอจะช่วยให้คุณตัดสินใจตัดเสื้อตัวใหม่ได้ตรงกับเจตนารมณ์มากขึ้น และเพราะการเลือกผ้าคือการตัดสินใจที่มีความคาดหวังเป็นเดิมพัน ดังนั้น ผมจะไม่ให้คำมั่นใดๆ ว่าเลือกตามผมแล้วสูทจะออกมาสวยถูกใจ นอกจากคำว่า “ผมจะทำให้ดีที่สุด” และจะไม่พาดพิงถึงใคร นอกจากจะแฉความผิดพลาดของตัวเองไว้เผื่อเป็นวิทยาทาน

กลับไปที่จุดเริ่มต้นครับ ผมเชื่อเสมอว่าสไตล์คือการทำความเข้าใจกับตนเองอย่างถ้วนถี่ และคือการ ‘รู้ตัว’ ว่าตอนนี้ คุณกำลังจะทำอะไร แต่ผม (สมัยก่อน) กลับทำตรงข้าม ด้วยการเดินเข้าไปในห้องเสื้อด้วย ‘หัว’ และ ‘ใจ’ ที่ว่างเปล่า เมื่อเทเลอร์หรือพนักงานขายถามว่าอยากได้สูทหรือแจ็คเก็ตแบบไหน จะใส่ในโอกาสอะไร สีเทาที่อยากได้นั้น เข้มหรืออ่อนแค่ไหน น้ำหนักเป็นยังไง ใส่ในสภาพอากาศที่ร้อนไหม และอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผมเป็นใบ้ไปชั่วขณะ

ผมเคยคิดว่า แล้วมันไม่ใช่หน้าที่ของคนขายหรือที่จะต้องแนะนำ? ใช่ครับ แต่เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางม้วนผ้าสีเดียวกันแต่หลากเฉดสี หรือแคตตาล็อกตัวอย่างผ้ากองเป็นตั้ง แม้ทั้งหมดคือสีเทา แต่ไม่ใช่เทาเดียวกัน เท็กซ์เจอร์ไม่เหมือนกัน น้ำหนักต่างกัน ความด้านและเงาไม่เท่ากัน และเมื่อเพ่งใกล้ๆ แม้จะเฉดเดียวกันแบบคู่แฝดแต่ดันคนละฝา เพราะลายทอก็ไม่เหมือนกันอีก เล่นเอาไปไม่เป็นเหมือนกันครับ จินตนาการไม่ออกเลยว่าไอ้ผ้าผืนขนาดเล็กกว่าไอแพดมินิที่เราเห็นว่าสวย พอตัดออกมาเป็นตัว มันจะเป็นยังไง

วินาทีนั้น ผมฉุกคิด

แม้คนขายจะแนะนำดีเท่าไหร่ แต่ถ้าผมยังตอบตัวเองไม่ได้เลยว่าตอนนี้ต้องการอะไร แล้วใครจะแนะนำได้

หรือหากรู้ แต่ข้อมูลน้อยเกินไป ใครมันจะแนะนำถูก

และที่สำคัญ ต่อให้แนะนำได้ เชียร์ได้ แต่สุดท้าย ผมเองต้องเป็นคนตัดสินใจ ไม่ใช่ใครทั้งนั้น


Sean Connery ขณะฟิตติ้งสูท Bespoke กับ Anthony Sinclair เทเลอร์ผู้รับผิดชอบลุคหล่ออมตะของสายลับ 007 ตอน From Russia With Love (1963)

 

ผมกลับบ้านมาตั้งหลักหลายวัน และกลับไปใหม่

คราวนี้ผมแน่ใจว่าอยากได้สูทสีเทาเข้มชาร์โคลเรียบๆ แบบที่ Goro Inogashira ใส่ในซีรีย์มังงะ ‘อร่อยเดียวดาย’ ใช่ครับ เทาเข้มเรียบขรึม ยิ่งเสริมให้เซลแมนหนุ่มใหญ่ดูสุขุม น่าเชื่อถือ สีเรียบๆ กับความเงาในระดับที่ไม่ออกนอกหน้านั้น ไม่กลบบุคลิกจนบดบังเสน่ห์และอารมณ์ขันของโกโระซัง จุดต่างเพียงนิดคือ ผมใส่สูทนี้อยู่ในเมืองที่ร้อนเหมือนซ้อมตกนรกตลอดเวลา จะมาแอ๊คท่าจิบมาตินี่ทั้งที่เหงื่อตกในสูทผ้าสักหลาดหรือ flannel สีเทานั้น ดูไม่งามเท่าไหร่ ที่สำคัญ ผมอยากใส่ในหลายบริบท คือใส่ไปงานแต่งเพื่อนพอได้ ใส่เดินทางก็ไม่ยับ แสดงว่าควรเป็นผ้าวูลที่มีเส้นใยและการทอที่ยืดหยุ่น คืนตัวง่าย แขวนไว้คืนนึงก็หายยับ และทอแบบ open weave คือทอห่าง ให้ลมผ่านได้ แต่ไม่ see through หรือถ้ารู้สึกว่า ทอห่างจนมองเห็นข้างในรางๆ ผมจะยืนยันให้เทเลอร์ใส่ซับใน cupro แบบเต็มตัว (full lining)


Yutaka Matsushige สวมบทบาทเซลแมน Goro Inogashira จากซีรีย์ Solitary Gourmet มาพร้อมสูทเทาในโทนเข้มสุขุม เนื้อเงานิดๆ จึงเหมาะมากหากตัดด้วยผ้า worsted wool หรือ wool-mohair น้ำหนักสัก 230-280 กรัม

 

ด้วยงบประมาณที่ผมตั้งไว้ ทำให้เหลือเพียง 2 ตัวเลือก อันแรกเป็นผ้าสีเทาถ่านหินสุดคลาสสิค เข้มถึงใจ ตัดกับ skin tone แล้วเข้าท่า น้ำหนักไม่เกิน 280 กรัม ติดอย่างเดียวคือ แม้จะเงา แต่ในความเงานั้นมันเป็นเงาหลอกๆ จากวูลผสมโพลีเอสเตอร์ ซึ่งผมแสลงใจที่จะใส่ผ้าผสมใยสังเคราะห์ เพราะรู้สึกร้อน และเนื้อผ้ามันไม่พัฒนาไปตามการใช้งานและวันเวลา มันให้เอฟเฟ็ค ‘ยิ่งใส่ ยิ่งสวย’ ไม่ได้ และนั่นไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว


อีกช้อยส์ เป็นผ้าวูลผสมลินิน เนื้อละเอียด สีเทาเข้มแต่ไม่ถึงกับชาร์โคล บางพริ้วกว่า ไม่ (น่า) ร้อนชัวร์ แม้จะบางแต่ยังนิ่มเพราะมีวูล ให้อารมณ์แคชวลจากเอฟเฟ็ค ‘ยับสวย’ แบบลินิน แม้ราคาจะแพงขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ความอยากได้กลับเอาชนะเหตุผลที่เตรียมมา

มันทำให้ผมหูหนวกและไม่สนใจคำแนะนำที่คนขายบอกหลังจากนั้น

หากย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะตัดสินใจใหม่

แต่เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน และ learning curve ที่พูดไปตอนแรก มันเริ่มออกฤทธิ์เมื่อเราย้อนคิดและวิเคราะห์ผลลัพธ์จากการตัดสินใจในอดีตนี่แหละครับ จริงอยู่ ผมใช้สูทตัวนั้นคุ้มเกินราคา และตรงกับรสนิยมในตอนนั้น แต่ความผิดพลาดของมันคือ มันไม่ตรงกับความเป้าหมายแรกของผม จำได้ไหม ผมอยากได้สูทสีเทาเข้มที่ดูสุขุม ไม่สะดุดตาตั้งแต่วินาทีแรก แต่ดู ‘มีอะไร’ เมื่อมองไปนานๆ และต้องเป็นสูทที่ไม่ยับง่าย ซึ่งผ้าช้อยส์แรกดูจะตรงกว่าด้วยซ้ำ แต่เพราะความอยากได้หลอกตา ผมจึงลืมจุดประสงค์แรกไปสิ้น

หากย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะตัดสินใจใหม่

นั่นคือ ผ้าลินินผสมวูลผืนนั้น แม้จะมีสีเทาเข้มจนน่าตัดสูท และคงไม่ดู out of place เกินไปในบริบทบ้านเมืองนี้ที่ทั้งร้อนและไม่ค่อยเป็นทางการ แต่ผิดคาด เพราะจากน้ำหนักที่บาง องค์ประกอบของผ้าที่ออกไปทางลินินมากกว่าวูล ความเด้งของผ้าที่ยับง่ายและไม่ค่อยคืนตัว และสีที่พอตัดออกมาแล้วไม่ได้เข้มขนาดนั้น ทำให้ผ้านี้ดูแคชวลกว่าที่คาด เหมาะกับการตัดแจ็คเก็ต มากกว่าสูท และมันยิ่งตอกย้ำตรงที่กางเกงที่ตัดจากผ้านี้มีจีบหน้าเหมือนจะคม แต่ใส่สักพัก กลับเลือนหาย ใส่ไม่นานก็ย้วย ไม่อยู่ทรง โดยเฉพาะสะโพกที่ย้วยเหมือนกางเกงผ้าอ้อมผู้ใหญ่


Cary Grant สวมบทบาท Roger Thornhill ในภาพยนตร์อมตะตลอดกาล North by Northwest (1959)

 


หรือไม่ หากผมยังชอบผ้านี้ ผมจะตัดแค่แจ็คเก็ต โดยไม่ตัดกางเกง

หรือไม่ แทนที่จะอยากได้สูทแบบครอบจักรวาล ครึ่งๆ กลางๆ คือใส่ได้ทั้งทางการและแคชวล ผมจะ ‘เลือกเอาสักทาง’ คือตัดสินใจเลือกไปทางฟอร์มอลไปเลย และจะกลับไปช้อยส์แรก แต่จะยอมทุ่มเงินเปลี่ยนจากผ้าวูลผสม เป็นวูลแท้ให้รู้แล้วรู้รอดไป เพราะเจ็บสั้น ดีกว่าปวดนาน หรือไม่ก็เลือกผ้า 2 ply หรือ 4 ply สไตล์ travel suit เท็กซ์เจอร์แห้งๆ และมีลวดลาย subtle อย่าง houndstooth เล็กๆ ในสีเทาสลับดำ ที่เมื่อมองไกลๆ จะเห็นสีเทาเหมือนเงาตะคุ่มๆ

หรือไม่ ผมจะเลือกวูลผสมโมแฮร์ที่มีเนื้อด้านแอบเงา แต่ไม่เงาจนเขินเมื่อโดนแสงธรรมชาติ และไม่เงาหลอกๆ ยามโดนแสงสังเคราะห์ น้ำหนักสัก 250-325 กรัม ไม่ร้อนหรือ? หลายคนทัก


Cary Grant มากับเบลเซอร์ผ้าสักหลาดสีเทากระดุมทอง ผ้าสีเทา ยิ่งเป็นผ้าสักหลาดแบบนี้ มักตัดเป็นสูท แต่ด้วยกระดุมทองและดีเทลกระเป๋าปะตรงหน้าอก (patch pocket) ทำใ้ห้ผ้าเทานี้สมศักดิ์ศรีเบลเซอร์

 


อย่ากลัวร้อนเกินเหตุครับ ผมว่าตอนนี้หลายคนเสพติดความบาง และใส่แจ็คเก็ตที่บางเกินไป ผ้าหนักนั้น อยู่ทรงกว่า และไม่ต้องตกใจ หากทอแบบเปิดหน่อย ผ้าน้ำหนักนี้เย็นกว่าลินินที่ทอแน่นแต่มีน้ำหนักเดียวกัน หรือเย็นกว่าผ้าแคชเมียร์ หรือซิลค์ที่น้ำหนักเบากว่า แต่ทอเนียนจนลมผ่านไม่ได้

และทั้งหมดนั้น มันเป็นความผิดพลาดของผมเอง ไม่ใช่คนขาย เพราะเขาได้บอก ‘ความเป็นไปได้’ ทุกอย่างไว้แล้วว่า ผ้าบางแบบนี้ เย็นก็จริง แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากทำเป็นสูท เพราะความอยากได้ตอนนั้นแท้ๆ จึงทำให้ผมไม่ฟัง


Dean Martin กับสูทเทา ที่เมื่อมองไกลๆ จะเห็นเป็นเส้นสายคล้าย bold stripe สีเทาเข้มสลับอ่อน แต่เมื่อเพ่งใกล้ๆ จะเห็นลายก้างปลาชัดเจน ถือเป็นสูททางการที่มองได้หลายมิติ

 


เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า...

หนึ่ง อย่าให้ความอยากได้มาเปลี่ยนเป้าหมายแรก

สอง แต่ถ้าถูกใจกับตัวเลือกใหม่ และยังไม่แน่ใจในผลลัพธ์ ให้ยอมรับ และถาม

สาม ต้องบาลานซ์ระหว่างคำแนะนำของผู้ขาย กับความต้องการของคุณให้ได้ แม้จะศึกษาล่วงหน้า หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาก่อนว่า ผ้าแบบนี้ ตัดออกมาแล้วจะเป็นยังไง แต่ผมก็จะรับฟังคำแนะนำจากผู้ขายเช่นกัน ฟังหูไว้หู พิจารณาให้ดีว่าคนขายนั้นพูดจากประสบการณ์ที่ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ หรือแค่อยากเชียร์ แล้วนำข้อมูลนั้นมาถกกันเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด


Daniel Craig ในชุดสูทลินินสีเทาอ่อนซึ่งเป็นสีที่พบไม่บ่อยนักในสูทลินิน ผ้าลินินที่จะเอาไปตัดสูทนั้น แนะนำให้เลือกเป็นลินิน 100% ที่หนักสัก 260 ถึง 300 กรัมกว่าๆ กำลังยับสวย อยู่ทรง ซึ่งต่างจากผ้าลินินผสม ที่แม้จะเอามาตัดสูทเหมือนกัน แต่ผลที่ออกมาอาจต่างกันราวกับหนังคนละม้วน

 


หลายคน (รวมถึงผม) มักถามว่า ทำไมผ้านี้ ตัดแจ็คเก็ตได้ แต่ตัดสูทไม่ได้ล่ะ? คำถามสุดคลาสสิคในโลก sartorial ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ถ้าตอบแบบวิชาการ มันอาจตัดสินจากน้ำหนัก การทอ ความเด้งของผ้า การคงรูป คืนตัว ผ้าที่บางหรือแม้จะหนาแต่เนื้อนุ่มมากเกินไป อาจไม่เหมาะกับการทำกางเกงที่คงทน (และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมผ้าแคชเมียร์ 100% จึงเหมาะกับการทำแจ็คเก็ต ถ้าอยากทำสูท แนะนำเป็นวูลผสมแคชเมียร์ ความแข็งแรงของเส้นวูลทำให้กางเกงของสูทนั้น มั่นคงขึ้น) แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเสนอไป เพราะหลายครั้ง แม้จะเข้าข่ายว่าทำกางเกงได้ แต่ธรรมเนียมปฏิบัติ วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ กลับบอกว่ามันมีตัวเลือกที่ดีกว่า พูดง่ายๆ คือประสบการณ์จะสอนคุณเอง แต่บางครั้ง ประสบการณ์ก็ ‘ของใคร ของมัน’ ดังนั้น ขอตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยว่า ของแบบนี้ ‘เซนส์มันบอก’

สี่ ถ้าไม่แน่ใจ อย่าทำตัว ‘รู้ดี’ เพราะที่ไม่น่ารักที่สุดคือ ไม่รู้ และทำเป็นรู้ดีว่าตัวเองต้องการอะไร ทั้งที่ไม่รู้จริง

ห้า ที่สำคัญ ตั้งสติ ไม่ต้องรีบตัดสินใจ ไม่มีใครบังคับให้คุณต้องรีบปิดดีลตอนนี้

หก หากตัดสินใจแล้ว คุณต้องยอมรับผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้นให้ได้ และเรียนรู้ความผิดพลาดครั้งนั้น

เพราะเอาเข้าจริงๆ คุณอยากจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ (แต่ใส่ได้ไหม หรือใส่ออกมาแล้วสวยไหม นั่นอีกเรื่อง) คุณจะเอาผ้าตัดแจ็คเก็ต ไปตัดสูทก็ได้ หรือแทนที่จะตัดกางเกงจากผ้าตัดกางเกง คุณจะเอาผ้าตัดสูท ไปตัดแต่กางเกงอย่างเดียว โดยไม่ตัดแจ็คเก็ตให้เข้าคู่กันก็ได้ (เหมือนจะแยกใส่ ว่างั้น)


Gregory Peck ขณะฟิตติ้งที่ H. Huntsman & Sons ในปี 1955 ว่ากันว่าพระเอกหน้าคมเป็นลูกค้าผู้ภักดีของเทเลอร์เก่าแก่เจ้านี้ สั่งตัดสูทไปมากกว่า 160 ชุด

 


ในกรณีนี้ สมมติว่าผมเป็นช่างตัดเสื้อ (หรือคนขายสายคลาสสิคเมนส์แวร์) และสมมติว่านั่นคือความต้องการของลูกค้า ก่อนอื่น ผมจะค้านหัวชนฝา (ย้ำว่านี่คือความคิดเห็นส่วนตัว) เพราะด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ ผมจะแนะนำแบบตามใจลูกค้าโดยไม่บอก ‘ความเป็นไปได้’ ทั้งหมดแก่เขาไม่ได้

แต่ผมจะเริ่มแนะนำจากผ้าที่เหมาะกับการทำสิ่งนั้นๆ อย่างเจาะจงเสียก่อนว่า นี่คือผ้าตัดกางเกง ที่ตัดออกมาแล้วมีคุณสมบัติเป็น odd trousers คือใส่เดี่ยวๆ แล้วไม่เขิน ผ้าพวกนี้ น้ำหนักดี เด้ง อยู่ทรง จีบสวย และจะเลือกผ้าให้ตรงตามโอกาสที่เขาจะใส่มันจริงๆ ก่อน ถ้าเขายังยืนยันที่จะใช้ผ้าสูทมาตัดกางเกง ผมจะบอก ‘ความเป็นไปได้’ ในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น กางเกงตัวนี้ แม้จะแข็งแรงก็จริง เพราะตัดจากผ้าที่เหมาะแก่การตัดสูท (นั่นหมายถึงทำได้ทั้งแจ็คเก็ตและกางเกง) แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันจะดูเหมือน part of a suit นะ ถ้าใส่เดี่ยวๆ นั้น เหมือนมัน ‘ขาดคู่หู’ ยิ่งเป็นลายไอคอนิคอย่าง Windowpane หรือ Prince of Wales ฯลฯ ด้วยแล้ว  มันยิ่งเหมือน ‘แต่งไม่ครบ’ คล้ายว่าเขาลืมแจ็คเก็ตไว้ที่บ้าน

แต่ถ้าเขายังยืนยันอีกครั้ง (และแน่นอน ในข้อจำกัดที่ไม่ฝืนธรรมชาติจนเกินไป) ผมจะบอกเขาว่า “ผมจะทำให้ดีที่สุดครับ” และที่ยอมเย็บให้ เพราะแน่ใจว่าเขาทราบทุกความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นแล้วจริงๆ

หน้าที่สุดท้าย จึงตกเป็นของคนใส่ ที่จะต้องยอมรับการตัดสินใจของตน ให้เขาได้ค่อยๆ ไต่ learning curve ด้วยการเรียนรู้จากความผิดพลาด

เพราะอย่าลืมว่า เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยนไป นับประสาอะไรกับรสนิยม เขาอาจถูกใจและมีความสุขกับสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นความผิดพลาดก็ได้

หรือไม่แน่ มองย้อนกลับไป ผมเองอาจเปลี่ยนใจ และมองสิ่งที่ (เคย) เห็นว่าเป็นความผิดพลาด กลายเป็นความงามใหม่ก็เป็นได้...ใครจะรู้

Previous Article Next Article